ความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ ของ อินเตอร์สเตลลาร์ ทะยานดาวกู้โลก

คิป ธอร์น นักฟิสิกส์ทฤษฎี ทำหน้าที่ที่ปรึกษาและผู้อำนวยการผลิต

นักฟิสิกส์ทฤษฎี คิป ธอร์น เป็นที่ปรึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าภาพของรูหนอนและสัมพัทธภาพมีความถูกต้องที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ "สำหรับภาพของรูหนอนและหลุมดำ” เขาบอก "เราปรึกษากันว่าจะทำกันยังไง จากนั้นผมก็ได้สมการซึ่งจะทำให้การติดตามเส้นทางเดินของแสงในขณะที่พวกมันเดินทางผ่านรูหนอนหรือไปรอบ ๆ หลุมดำได้ ดังนั้นสิ่งที่คุณเห็นนั้นมีพื้นฐานมาจากสมการสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์"

ในการสร้างรูหนอนและหลุมดำมวลยิ่งยวดแบบหมุนนั้น (ซึ่งมี ergosphere แตกต่างจากหลุมดำที่ไม่หมุน) ธอร์นทำงานร่วมกับหัวหน้าวิชวลเอฟเฟค พอล เฟรงคลิน และทีมนักออกแบบคอมพิวเตอร์เอฟเฟคอีก 30 คนที่ Double Negative ธอร์นจะให้สมการทางทฤษฎีที่มีแหล่งที่มาชัดเจนเป็นหน้า ๆ กับพวกนักออกแบบ ซึ่งจะเขียนซอฟแวร์เรนเดอร์ CGI ใหม่โดยมีพื้นฐานมาจากสมการ เพื่อสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ที่มีความถูกต้องของเลนส์ความโน้มถ่วงที่เกิดจากปรากฏการณ์เหล่านี้ บางเฟรมนั้นใช้เวลามากกว่า 100 ชม. เพื่อเรนเดอร์ และผลลัพธ์ที่ได้เป็นข้อมูล 800 เทราไบต์ วิชวลเอฟเฟคที่ได้นั้นทำให้ธอร์นเข้าใจอย่างถ่องแท้ในผลกระทบของเลนส์ความโน้มถ่วงและ accretion disks รอบ ๆ หลุมดำ และจะนำไปสู่การสร้างสรรค์งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สองฉบับ ฉบับหนึ่งสำหรับวงการฟิสิกส์ดาราศาสตร์ และอีกฉบับหนึ่งสำหรับวงการคอมพิวเตอร์กราฟิก

แรก ๆ คริสโตเฟอร์ โนแลน กังวลว่าภาพวาดที่มีความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์ของหลุมดำจะไม่สามารถเห็นแล้วเข้าใจได้สำหรับคนดู และจะต้องให้ทีมนักออกแบบแก้ไขรูปร่างให้เพี้ยนไปจากความจริง อย่างไรก็ตามโนแลนพบว่าเอฟเฟคที่เสร็จแล้วนั้นสามารถเข้าใจได้ถ้าเขารักษามุมมองของกล้องไม่เปลี่ยนแปลง "สิ่งที่เราพบคือว่าตราบใดที่เราไม่ได้เปลี่ยนมุมมองมากเกินไป นั่นคือตำแหน่งของกล้อง เราสามารถได้สิ่งที่สามารถเข้าใจได้เป็นอย่างดี"

ภาพวาดของรูหนอนว่าควรจะดูเป็นอย่างไรนั้นพูดได้ว่าถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ แทนที่จะเป็นหลุมสองมิติในอวกาศ มันถูกวาดเป็นทรงกลมแสดงให้เห็นภาพที่บิดเบี้ยวของกาแล็กซี่เป้าหมาย ซึ่ง accretion disk ของหลุมดำถูกบรรยายโดยธอร์นว่า "จาง ๆ และอยู่ที่อุณหภูมิต่ำ ประมาณอุณหภูมิของพื้นผิวดวงอาทิตย์" ทำให้มันปล่อยแสงที่มองเห็นได้ แต่มีรังสีแกมมาและรังสีเอ็กซ์ไม่มากพอให้ทำอันตรายกับนักบินอวกาศและดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ ๆ

ในช่วงแรกของกระบวนการ ธอร์นวางเงื่อนไขไว้สองประการ "หนึ่งคือว่าจะไม่มีอะไรที่ละเมิดกฎฟิสิกส์ที่มีอยู่แล้ว สองคือการคาดเดาทั้งหลายจะต้องมาจากวิทยาศาสตร์และไม่ได้มาจากผู้เขียนบท" โนแลนยอมรับเงื่อนไขเหล่านี้ตราบใดที่พวกมันไม่ได้เป็นอุปสรรคในการสร้างภาพยนตร์ ครั้งหนึ่งธอร์นใช้เวลาสองสัปดาห์พยายามพูดคุยกับโนแลนให้เลิกล้มแนวคิดเกี่ยวกับตัวละครที่เดินทางได้เร็วกว่าแสงก่อนที่โนแลนจะยอมแพ้ในที่สุด ตามที่ธอร์นบอกองค์ประกอบซึ่งได้อิสระในการออกแบบมากที่สุดคือเมฆน้ำแข็งบนดาวเคราะห์ดวงหนึ่งที่พวกเขาไปเยือน ซึ่งเป็นโครงสร้างที่อาจเกินความแข็งแรงของวัตถุซึ่งน้ำแข็งจะสามารถรับได้

นักชีวดาราศาสตร์ เดวิด กรินสพูน ชี้ให้เห็นว่าแม้แต่โรคพืชที่ตะกละตะกลามก็อาจต้องใช้เวลานับล้าน ๆ ปีเพื่อลดปริมาณของออกซิเจนในชั้นบรรยากาศ เขายังสังเกตอีกด้วยว่าเมฆน้ำแข็งควรถูกดึงลงมาด้วยแรงโน้มถ่วง และดาวเคราะห์ที่โคจรรอบหลุมดำก็มีแสงอาทิตย์อีกด้วยในเมื่อมันไม่ควรจะมี อย่างไรก็ตามตามที่ธอร์นอ้างไว้ด้านบน หลุมดำหมุนแบบนี้มี accretion disk ซึ่งมีอุณหภูมิคล้ายกับของดวงอาทิตย์ ดังนั้นแสงที่ปล่อยออกมาถึงดาวเคราะห์ได้ก็เนื่องมาจาก accretion disk ของสสารที่มีพลังงาน/รังสีที่เข้าไปหาขอบฟ้าเหตุการณ์ของหลุมดำ อีกอย่างดาวนิวตรอนถูกอ้างถึงในภาพยนตร์โดยคูเปอร์ว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบด้วย

นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ นีล ดิกราส ไทสัน ได้เปิดเผยวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลังฉากจบของ Interstellar เขาสรุปว่ามันเป็นไปได้ในทางทฤษฎีในการปฏิสัมพันธ์กับอดีต และว่า "เราไม่รู้จริง ๆ ว่ามีอะไรอยู่ในหลุมดำ ดังนั้นก็เอาเลย"

ดร.มิชิโอะ คาคุ ยกย่องภาพยนตร์เรื่องนี้สำหรับความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์และได้กล่าวว่า Interstellar "อาจตั้งมาตรฐานใหม่สำหรับภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ไปอีกหลายปี" ในทางเดียวกัน ทิโมธี ลีส์ อดีตวิศวกรซอฟแวร์นาซ่ากล่าวว่า "การอธิบายหลุมดำและรูหนอนของโนแลนและธอร์น รวมทั้งการใช้แรงโน้มถ่วงนั้นเยี่ยมยอด"

ลอว์เรนซ์ เคราซ์ เรียกวิทยาศาสตร์ใน Interstellar ว่า "น่าเศร้าใจ"

แหล่งที่มา

WikiPedia: อินเตอร์สเตลลาร์ ทะยานดาวกู้โลก http://www.boxofficemojo.com/movies/?id=interstell... http://deadline.com/2015/01/critics-choice-awards-... http://www.empireonline.com/awards2015/ http://www.floridafilmcritics.com/2014/12/16/2014-... http://www.floridafilmcritics.com/2014/12/19/2014-... http://oscar.go.com/nominees http://www.hitfix.com/in-contention/dallas-fort-wo... http://www.hollywoodreporter.com/behind-screen/daw... http://www.hollywoodreporter.com/news/afi-list-top... http://www.imdb.com/title/tt0816692/